เมษายน 25, 2024, 08:38:49 PM

ยินดีต้อนรับเพื่อนๆ ทุกคนครับ กรุณาลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่อโพส ดูไฟล์แนบ และเข้าสู่บอร์ดอื่นๆ
กรุณาอย่าสมัครสมาชิกเพื่อโฆษณาเวปไซด์ หรือสินค้าใดๆ รวมถึงการเสนอขายสินค้าทุกชนิด
หากพบเห็น ทางทีมงานจะทำการตักเตือนก่อนในครั้งแรก
แต่หากยังฝ่าฝืนกระทำการดังกล่าวอีกทีมงานจะดำเนินการลบสมาชิกของท่านทันทีตามข้อตกลงในการสมัครสมาชิกครับ


หลังจากลงทะเบียนเพื่อสมัครสมาชิกใหม่แล้วโปรดตัวสอบ e-mail ของคุณ หรือทดลอง log in ได้ภายใน 24 ชั่วโมงครับ
*** บางครั้ง e-mail อนุมัติอาจอยู่ใน จดหมายขยะ หรือ Spam ขอบคุณครับ

ผู้เขียน หัวข้อ: บทความดีๆที่เจอครับ  (อ่าน 4978 ครั้ง)

ออฟไลน์ choke

  • Sophomore MC27/30
  • **
  • กระทู้: 2,083
  • ถูกใจ: +20/-0
  • long lasting
บทความดีๆที่เจอครับ
« เมื่อ: สิงหาคม 17, 2011, 11:35:12 AM »
สืบเนื่องจากฉบับที่แล้ว ผมพูดถึงกำเนิดวิสกี้และการทำอารยขัดขืนในสกอตแลนด์และนิวซีแลนด์ ตรงนี้ไม่รวมถึงสหรัฐ อเมริกาที่ใช้วิสกี้แทนเงินตราในยุคที่ขาดแคลนมาแล้ว ในช่วงสามปีครึ่งที่ผ่านมาคอลัมน์ผมโดยมากจะเน้นเรื่องสังคมและการเมือง ซึ่งอาจจะสร้างความเครียดให้ท่านผู้อ่านเป็นครั้งคราว ในฉบับนี้ผมจึงขอหันมาพูดเรื่องสบายๆ อย่างวิสกี้ชนิดต่างๆ ในโลกอุตสาหกรรมเหล้า ตบท้ายด้วยรสชาติของวิสกี้บางยี่ห้อ หรือที่มาจากบางเขตที่ผมพอจะมีความรู้อยู่บ้าง

ก่อนอื่นผมต้องขอออกตัวอีกครั้งว่าผมไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องเหล้าแต่อย่างใด ผมพอจะมีความรู้เพราะได้ศึกษามาบ้าง ประกอบกับเคยได้รับเชิญไปร่วมงานเทสติ้งจึงพอจะรู้บ้างแบบงูๆ ปลาๆ

ในบรรดาวิสกี้ทั้งหมดเราสามารถแบ่งได้ว่าวิสกี้มาจากสามแขนงด้วยกันคือ วิสกี้ที่มาจากมอลต์แท้ๆ คือ Malt Whisky ซึ่งในที่นี้สามารถแบ่งได้อีกเป็นมอลต์แท้ๆ จากโรงกลั่นเดียว หรือจากหลายโรงกลั่น ซึ่งผมจะพูดถึงต่อไป วิสกี้ชนิดที่สองคือวิสกี้ที่เกิดจากพืชชนิด อื่น เช่น ข้าวสาลี ข้าวไรน์ หรือแม้แต่ข้าวโพด พวกนี้เรียกว่า Grain Whisky และชนิดสุดท้ายคือลูกผสม ซึ่งเกิดจาก Malt และ Grain เรียกว่า Blend Whisky ดังนั้น ประเทศต่างๆ ที่ผลิตวิสกี้สามารถผลิตจากข้าวหรือเมล็ดพืชใดก็ได้ แต่ในบรรดาเหล้าวิสกี้ในโลกจะมีวิสกี้สองชนิดที่มียอดขายมากที่สุดคือ สกอต วิสกี้ (Scotch) และเบอร์เบิร์นวิสกี้ (Bourbon) ซึ่งมีกฎในการผลิตที่แน่นอน นอกจากนี้จะมีวิสกี้ที่โดด เด่นจนเป็นที่รู้จักคือ วิสกี้จากไอร์แลนด์กับแคนาดา ล่าสุดคือวิสกี้จากญี่ปุ่นซึ่งเริ่มเข้ามาในตลาด

ก่อนที่ผมจะพูดถึงวิสกี้จากประเทศต่างๆผมขอพูดถึงกฎการที่วิสกี้จะถูกเรียกว่าสกอต หรือ เบอร์เบิร์นได้เสียก่อน เพราะเครื่องดื่มทั้งสองชนิดนั้นถูกจัดว่าเป็นเครื่องดื่มประจำชาติของสกอตแลนด์ และอเมริกา จนต้องมีกฎหมายบัญญัติการเรียกเหล้า ของบริษัทใดๆ ว่า สกอตหรือเบอร์เบิร์น จะต้องผลิต ให้ได้มาตรฐานกล่าวคือ เบอร์เบิร์นนั้นต้องเป็น Grain Whisky base คือเกินกว่า 51% ของเหล้าต้องทำมา จาก Grain คือข้าวสาลี ข้าวโพด หรือข้าวไรน์ ในขณะที่ต่ำกว่า 49% ถึงเป็นมอลต์จากข้าวบาร์เลย์ต้องห้ามใส่สีหรือรสและมีแอลกอฮอล์ต่ำกว่า 80% ตอนต้ม และต่ำกว่า 62.5% ตอนบรรจุลงถังไม้และเมื่อบรรจุลงขวดต้องมีปริมาณแอลกอฮอล์สูงกว่า 40% ต้องหมักในถังไม้โอ๊กใหม่เท่านั้นและต้องไม่ต่ำ กว่าสองปีในการหมัก เมื่อเขียนอายุของเหล้าลงบนขวดต้องมาจากเหล้าที่มีอายุที่น้อยที่สุดของเหล้าที่นำมาผสม เช่น ถ้าเอาเหล้าสี่สิบชนิดมาผสม สมมุติว่าถังที่มีอายุน้อยที่สุดคือเจ็ดปี อายุของเหล้าบนขวด คือเจ็ดปี แม้ว่าบางถังที่มาผสมอาจจะมีอายุเกินสิบปีก็ตาม เหล้าเบอร์เบิร์นจึงเป็นเหล้า Blended ซึ่งมี พ.ร.บ.การผลิตจากปี 1964 โดยผ่านสภาคองเกรสให้เป็นสัญลักษณ์ของอเมริกา

ในถิ่นกำเนิด ของวิสกี้อย่างสกอต แลนด์กลับออกกฎหมายช้ากว่าอเมริกัน เพราะอังกฤษก็มีเครื่องดื่มประจำชาติอยู่แล้วคือ ยิน ทำให้การออก พ.ร.บ.เพื่อสกอตแลนด์ ต้องใช้เวลาและสำเร็จ ในปี 1988 โดยรัฐบาลอังกฤษออก พ.ร.บ.ให้สกอตวิสกี้เป็นชื่อวิสกี้ที่ได้มาตรฐานคือเป็นเหล้าที่มีเบส (หรือทั้งหมด) เป็น Malt Whisky ซึ่งต้องมาจากข้าวบาร์เลย์ แหล่งน้ำในสกอตแลนด์ ต้มและหมักในสกอตแลนด์เท่านั้น ปริมาณแอลกอฮอล์ตอนต้มต้องต่ำกว่า 94.8% ไม่มีการผสมสีหรือรส รวมทั้งต้องมีปริมาณแอลกอฮอล์ สูงกว่า 40% ตอนบรรจุขวด นอกจากนี้ยังห้ามหมักต่ำกว่าสามปีกับอีกหนึ่งวันในถังไม้แท้ๆ ถึงจะมีสิทธิเป็น Scotch Whisky

เมื่อมีมาตรฐานดังกล่าวแล้ว ผมคิดว่าเรามาทำ ความรู้จักวิสกี้ชนิดต่างๆ ก่อนอื่นผมขอพูดถึงเหล้า Grain ก่อนเพราะเป็นที่นิยมน้อยที่สุดและเป็นที่รู้จักน้อยที่สุด เนื่องจากเราต้องยอมรับความจริงอย่างหนึ่งว่า บรรดา นักดื่มวิสกี้มองว่า Grain วิสกี้นั้นเป็นเหล้าเกรดต่ำเพราะ ในอดีตเกรนวิสกี้เกิดจากการขาดแคลนมอลต์เท่านั้น ในปัจจุบันโรงกลั่นที่ต้มเหล้า Grain มักจะขายเหล้าของตนให้บริษัทใหญ่ๆ เพื่อเอาไปเป็นส่วนผสมให้เกิด Blended วิสกี้มากกว่า และส่วนหนึ่งที่นักดื่มทั่วโลกชอบดูถูกเหล้าเบอร์เบิร์นว่าเป็นวิสกี้เกรดสามเนื่องจากการที่ใช้ Grain โดยเฉพาะข้าวโพดมากกว่า 51% ซึ่งทำให้เกิดเหล้าที่มีกลิ่นเหม็นกว่าเหล้าที่ทำมาจากข้าวบาร์เลย์ โดยเหล้าเกรนส่วนมากนั้นทำมาจากข้าวโพดกับ ข้าวสาลีเป็นหลัก วิสกี้ที่มาจากเกรนในปัจจุบัน (ถ้าไม่นับที่มาจากข้าวไรน์) แทบจะหาได้ยากมากในตลาดสากล โดยมากจะพบได้ในโรงกลั่นเล็กๆ ในสกอตแลนด์ ส่วนที่มาจากข้าวไรน์เองก็ยังหาได้ยาก โดยมากจะเป็นโรงกลั่นขนาดกลางในสหรัฐอเมริกา แม้แต่ยักษ์ใหญ่เบอร์เบิร์นอย่าง Jim Beam ก็ทำมาในรูปแบบพิเศษคือฉลาก ผมต้องยอมรับกับท่านผู้อ่านตรงๆ ว่าผมยังเข้าไม่ถึงรสชาติของ Grain วิสกี้ เนื่องจากมีโอกาสได้ลองน้อยมาก

วิสกี้ชนิดต่อมาที่ผมจะพูดถึงคือ Malt วิสกี้ ซึ่งบรรดานักดื่มทั่วโลกยกย่องว่าเป็นวิสกี้เกรดสูงที่สุด ตรงนี้ผมมองว่า ทำไมมอลต์วิสกี้ถึงถูกจัดว่าเป็นราชาของวิสกี้เพราะคนส่วนมากมองว่า วิสกี้ Blended นั้นส่วนมากทำกันเป็นอุตสาหกรรมใหญ่ๆ มีสูตรตายตัวทำออกมาเอาใจคนส่วนมากจึงไม่มีอะไรน่าพิสมัยเพราะถ้าเอาไปวัดกับร้านอาหารก็เหมือนร้านแฟรนไชส์ที่มีทั่วบ้านทั่วเมือง ขณะที่เหล้าเกรนเป็นอาหารที่ทำแบบร้านข้าวแกงคือพอทาน ได้สำหรับชาวบ้าน แต่ Single Malt นั้นเหมือนอาหารภัตตาคารชั้นดีที่ไม่มีสาขา มีสูตรประจำตระกูลซึ่งสืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน วัตถุดิบในการทำอาหารก็มีแต่วัตถุดิบชั้นดี ทำให้บรรดานักดื่ม ที่มีประสบการณ์เกิดอาการ Malt Snobbish

เหล้ามอลต์สามารถแบ่งเป็นสองแบบคือ Single Malt ซึ่งเป็นเหล้าที่มาจากมอลต์แท้ๆ ที่อาจจะมาจากหลายไร่ในเขตเดียวกันหรือใกล้เคียง โดยแบ่งเป็นสี่เขตหลักๆ ในอดีตคือ Highland, Lowland, Campbell town และ Islays ต่อมาเมื่อ Campbell Town ไม่มีกำลังผลิตที่ดีจนล้มละลายไป วิสกี้ในเขตแคมเบลล์ทาวน์จึงถูกนำไปรวมกับหมู่เกาะต่างๆ นอกชายฝั่งสกอตแลนด์ ในขณะที่เขตไฮแลนด์นั้นได้เกิดเขตใหม่เรียกว่า Speyside ซึ่งอยู่ตอนเหนือของที่ราบสูงนับเป็นเขตที่สี่ของบรรดานักดื่มแทน เมื่อได้มอลต์มาแล้วการผลิตต้องทำจากโรงกลั่นเพียงแห่งเดียวและมาจากแหล่งน้ำในบริเวณนั้น เมื่อผลิตออกมาแล้วจึงนำเหล้ามอลต์จากถังต่างๆ มาผสมให้ได้รสชาติที่กลมกล่อมจึงจะเรียกได้ว่าเป็น Single Malt วิสกี้เหล่านี้จะตั้งชื่อตามพื้นที่และโรงกลั่น

แบบที่สองคือ Vatted Malt หรือมอลต์ผสมนั้น เกิดจากการที่เอาวิสกี้ที่มาจากมอลต์แท้และกลั่นจากโรงกลั่นต่างๆ ทั่วประเทศมาผสมกันที่เดียวเป็นมอลต์ผสม โดยการกำหนดอายุของเหล้านั้นให้ดูจากถังที่อายุน้อยที่สุด เหล้ามอลต์ผสมที่มีชื่อเสียงในหมู่นักดื่มคือ จอห์นนี่ วอล์คเกอร์ กรีนเลเบล ซึ่งหมักสิบห้าปีและมาจากการผสมมอลต์สี่สายพันธุ์คือ ทาลิสเกอร์กับคาวอิล่า จากหมู่เกาะ ซึ่งมีกลิ่นฉุนของไม้อย่างรุนแรงและรสชาติ เผ็ด เข้ากับลิงค์วูดกับครากันมอร์ จากสเปย์ไซด์ที่มีรสนุ่มและหวาน นักดื่มจะมองว่าเหล้ามอลต์ผสมนั้นมีความ แตกต่างจากเหล้าผสม (Blended) น้อยมากและไม่ได้มีราคาเทียบเท่าเหล้ามอลต์เดี่ยวเพราะเกิดจากการผสม แต่ถ้าพูดถึงรสชาติสำหรับนักดื่มที่เพิ่งเข้ามาสู่โลกของมอลต์วิสกี้ ผมเชื่อว่า Vatted Malt เป็นวิสกี้ที่ดีที่สุดสำหรับการที่จะเริ่มดื่ม

ก่อนที่ผมจะพูดถึงรสชาติ มีข้อสังเกตอย่างหนึ่งว่าบรรดานักดื่มโดยมากชอบติเตียนกันที่อายุของเหล้า ผมเชื่อว่าคนที่ดื่มวิสกี้โดยมากมักที่จะมีความคิดว่าเหล้ายิ่งเก่ายิ่งดี ผมจึงขอชี้แจงสักสองข้อ ข้อแรกคือเหล้าวิสกี้นั้นนับอายุเมื่อวันที่บรรจุลงขวด เมื่ออยู่ในขวด แล้วเหล้าจะไม่ได้หมักอีกต่อไป แต่จะบ่งบอกว่าเหล้าชนิดนี้ปีนี้เป็นเหล้าพิเศษหรือไม่จึงไม่มี การนับอายุเมื่ออยู่ในขวด ยกตัวอย่างเช่นเหล้าอายุ สิบสองปีที่บรรจุใส่ขวดเมื่อสองปีก่อนไม่ได้แปล ว่าเปิดดื่มปีนี้เหล้าจะกลมกล่อมขึ้นเพราะเป็นเหล้าสิบสี่ปี แต่ที่จริง แล้วก็ยังเป็นเหล้าสิบสอง ปีเหมือนเดิม ดังนั้นเมื่อซื้อเหล้าที่กำหนดปี เช่นปี 1990 ที่บรรจุในปี 2009 ราคาที่สูงขึ้นไม่ได้ อยู่ที่ความเก่าขึ้นแต่อยู่ที่ ความต้องการของตลาด เพราะถ้าเหล้าปี 1990 เป็นเหล้าที่ดี หรือเป็นรุ่นที่ไม่ได้ผลิตแล้วต่างหากจึงจะมีราคาต่อนักสะสม ข้อ สองที่ผมอยากจะชี้แจงคือวิสกี้นั้น แน่นอนครับว่า การหมักนานมักจะส่งผลดีต่อรสชาติเพราะว่ารสชาติ ของไม้จะเข้าไปทำให้รสชาติของเหล้ากลมกล่อมขึ้น แต่ถ้าหมักนานเกินไปจะสร้างปัญหาหลักคือการที่กลิ่นและรสชาติไม้จะเข้ามาทำลายรสชาติของมอลต์ จนหมดสิ้น ดังนั้นถ้าเหล้ามอลต์ที่ดีนั้นไม่ควรที่จะหมักถึงยี่สิบปี ถ้าหากว่าเกินยี่สิบปีแล้ว จะมีเพียงวิสกี้บางชนิดเท่านั้นที่สามารถคงความกลมกล่อม ไว้ได้ ดังนั้น ถ้าจะดื่มวิสกี้อย่าไปจ้องแต่อายุของเหล้า ที่อยู่หน้าฉลากของขวดเพราะอาจจะทำให้ซื้อวิสกี้ไม่อร่อยในราคาแพงมาได้อย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์

นอกจากนี้ผมมักจะได้ยินหลายคนบอกว่าต้องดื่มวิสกี้พันธุ์ไหนกับมิกเซอร์อะไร ถ้าเอาไปผสม อะไรจะเสียรสชาติหรือเสียของ ที่จริงแล้ววิธีการดื่มให้ถูกต้องนั้นไม่มีหรอกครับ เพราะถ้าจะดื่มให้ถูกต้องจริงๆ ต้องดื่มเพียวๆ ไปเลยไม่ต้องแช่เย็น ไม่ต้องใส่น้ำแข็ง ไม่ต้องใส่น้ำเปล่า โค้ก หรือโซดา การดื่มเพียวๆ ในแก้วจะทำให้เราสามารถรับรู้รสชาติของวิสกี้ได้ดีที่สุด แต่ไม่ใช่ดื่มแบบเททิ้ง เขาถึงมีคำว่าร่ำสุรา ค่อยๆ จิบให้รู้รสชาติ ผมมองว่าแค่ใส่น้ำแข็งหรือแช่เย็นเข้าไปก็เสียรสแล้วเพราะความร้อนจากเหล้าจะโดนน้ำจากความเย็น หรือน้ำ ที่ละลายจากน้ำแข็งก็ทำให้รสชาติเปลี่ยนไป แต่ถ้าจะดื่มเอาสังคมกับเพื่อน เพราะเราไม่ได้ดื่มเพื่อมาทำเทสติ้งโน้ส ผมจะมองว่าใครอยากผสมอะไรก็ผสมไปตามความพอใจจะดีกว่า

เกริ่นมาขนาดนี้ผมก็ขออนุญาตพูดถึงเทสติ้ง ของวิสกี้จากเขตต่างๆ แบบที่รู้อย่างงูๆ ปลาๆ เพราะจะให้ผมเป็นนักชิมก็คงไม่ถึงขั้น ต้องขอเรียน ตรงๆ ว่ามีผู้รู้บางท่านเคยบอกผมว่าการลองวิสกี้ให้ ถูกต้องคือต้องลองจากรสชาติที่อ่อนไปหาที่แรงมากๆ คือต้องเริ่มจากเบาๆ ที่ทำจาก Speyside ขึ้นไป Highland สามารถเว้น Lowland หรือ Campbell town ได้เพราะมีน้อย จากนั้นให้ข้ามไปหมู่เกาะ

อย่าง Islands ก่อนที่จะไปจบที่ Islays ที่มีรสชาติแรง ด้วยความที่ผมเองก็ขาดประสบการณ์จึงเริ่มตามท่านผู้มีวิชาแนะนำปรากฏว่าทำให้ลิ้นของผมใช้เวลา นานกว่าจะแยกรสชาติได้ตามที่ควรจะเป็น ต่อมาผมได้ทราบว่าที่จริงแล้วการที่เราจะเทสต์มอลต์วิสกี้และเข้าใจถึงรสชาตินั้นไม่มีกฎตายตัวแต่อย่างใด วิธีที่ผู้หวังดีท่านนั้นแนะนำผมไม่ผิด แต่เป็นวิธีที่เราไปเทสต์วิสกี้ทีเดียวหลายสิบชนิดในวันเดียว เพราะจะเหมือนนักร้องออกคอนเสิร์ต จำเป็นต้องร้องเพลงที่ไม่ต้อง ใช้พลังมากในช่วงแรก แต่สำหรับคนที่ซื้อเพื่อดื่มผมไม่เห็นด้วยกับวิธีดังกล่าว เพราะนอกจากจะทำให้แยก รสชาติได้ช้าแล้วยังจะทำให้ น้อยคนสามารถดื่มวิสกี้ที่เผ็ดและแรงได้ในเวลาต่อมา ซึ่งก็คงจะเหมือนกับฝรั่งที่หัดทานอาหารเอเชียแล้วไปติดแค่อาหารญี่ปุ่น พอเจออาหารไทยเข้าไปก็ถอยกรูด แต่นั่นไม่ได้แปลว่าผมแนะนำให้ดื่มวิสกี้ที่เผ็ดแรงจาก Islays ตั้งแต่ต้นเพราะนั่นอาจจะทำให้เราเหมือนคนที่ชินกับอาหารเผ็ดๆ พอไปกินอะไรที่ไม่เผ็ดก็จะไม่ถูกลิ้นไปเสียหมด ดังนั้นผมมองว่าใครอยากเริ่มอย่างไรก็ตามแต่ความเห็นส่วนบุคคล

มอลต์แท้นั้นผมขออนุญาตพูดถึงแค่สี่ชนิดเพราะผมเลือกที่จะดื่มตามที่มอร์ตันกับสตีเวนสันเขียนกลอน The Scotsman’s return from abroad ไว้ว่าราชาแห่งเครื่องดื่มทั้งปวงคือ ทาลิสเกอร์, ไอส์ล่า และเกลนลิเวย์ นั่นคือวิสกี้สามตระกูลที่เรียกได้ว่าราชาแห่งวิสกี้คือ ทาลิสเกอร์จากสกาย เกลนลิเวย์จากสเปย์ไซด์ และสองยี่ห้อจากไอส์ลาคือ อาร์ดเบคกับราฟรอยด์ ซึ่งถ้าแบ่งตามเขตต่างๆ คือ Islays, Skye และ Speyside ซึ่งผมพอที่จะวิจารณ์ได้ รวมทั้ง Highland

ผมขอเริ่มจากวิสกี้จาก Speyside ปัจจุบันเป็นเขตที่มีโรงกลั่นมากที่สุดโดยอาศัยแหล่งน้ำจากแม่น้ำสเปย์ทางตะวันออกเฉียงเหนือของสกอตแลนด์ ด้วยแหล่งน้ำและบาร์เลย์จากเขตดังกล่าวผสมกับถังไม้ที่นำมาใช้ รสชาติของวิสกี้จากเขตนี้จะนุ่มกว่าเขตอื่นๆ วิสกี้ขึ้นชื่อในเขตนี้จะมีหลายตัวด้วยกันเช่น Glenlivet, Strathisla, Glenfiddich และ Glenfarclas คำว่า Glen แปลว่าหุบเขา เช่น เกรนฟาคราส แปลว่าหุบเขาทุ่งสีเขียว เกรนฟิดดิช แปลว่าหุบเขาแห่งกวาง ส่วนเกรนลิเวย์คือ หุบเขาแห่งแม่น้ำ ในบรรดาวิสกี้จาก Speyside จะมีจุดเด่นคือมีรสชาติที่นุ่มและกลมกล่อมกว่าวิสกี้ในเขตอื่นๆ ในยี่ห้อที่ผมยกขึ้นมานั้น สตราทไอส์ล่าจะเป็นที่ถูกลิ้นนักชิมบ้านเราได้ง่ายเพราะเป็นส่วนผสมหลักของ ชีวาสรีกัล ทำให้เป็นวิสกี้ที่มีคนรู้จักมาก

ในบรรดานักดื่ม Single Malt ส่วนมากจะนิยมเกลนฟิดดิชที่สุด เนื่องจากการตลาด กำลังผลิต และความคิดสร้างสรรค์ในการใช้ขวดสามเหลี่ยม โดยเฉพาะผมจะชื่นชอบเกลนฟิดดิช 21 ปีจากถังรัมแคริบเบียนเป็นพิเศษ แม้บรรดานักวิจารณ์จะยกให้ 15, 18 และ 30 ปี เป็นเหล้าที่ดีที่สุดของเกลน ฟิดดิช แต่โดยส่วนตัวผมมองว่า 21 ปีจะได้ความหวานของไม้จากถังรัมเข้ามาเสริม แต่ในบรรดาวิสกี้ จากสเปย์ไซด์ทั้งหมดนั้น มีเพียงเกลนลิเวย์เท่านั้นที่มอร์ตันกับสตีเวนสันยกย่องให้เป็นหนึ่งในสามราชาแห่งวิสกี้ เนื่องจากเกลนลิเวย์นั้นเป็นโรงกลั่นแรกที่ได้พระบรมราชานุญาตโดยพระเจ้าจอร์จที่ 4 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ตราประจำพระองค์หลังจากที่ทรงเสด็จประพาสสกอตแลนด์ จุดเด่นของเกลน ลิเวย์คือ ความหอมของมอลต์ผสมกับกลิ่นไม้อ่อนๆ ความนุ่มในรสชาติ

แม้ว่าสเปย์ไซด์จะเป็นเขตที่มีโรงกลั่นมากที่สุด แต่โดยพื้นที่แล้วเขตไฮแลนด์ (Highland) เป็นเขตที่มีขนาดใหญ่ที่สุด โดยมีวิสกี้ที่มีชื่อเสียงมากๆ คือ Glenmorangie, Royal Lochnagar และ Royal Brackla ในสามยี่ห้อนี้ รอยัลแบรคราเป็นวิสกี้ยี่ห้อที่สองที่ได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระเจ้าแผ่นดิน อังกฤษ ในรัชสมัยของพระเจ้าวิลเลียมที่สี่ พระองค์ทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้รอยัล แบรคราโฆษณาว่าเป็นวิสกี้ที่ทรงเสวย อย่างไรก็ตาม ผมมองว่าถ้านำเอาคุณภาพของรอยัลแบรครามาเทียบกับวิสกี้ที่ได้รับ Royal Warrant ในช่วงที่ผ่านมาแล้ว รอยัลแบรคราจะสู้ยี่ห้อใหม่ๆ ที่เกิดมาในช่วงร้อยปีที่ผ่านมาไม่ได้ โดยเฉพาะรอยัลลอคนาร์คา ซึ่งมีชื่อเสียงเนื่องจากในรัชสมัยของสมเด็จพระนางเจ้า วิกตอเรีย เจ้าชายอัลเบิร์ตพระสวามีทรงซื้อพระราชวัง บัลมอรัลในสกอตแลนด์เป็นพระตำหนักฤดูร้อนของราชวงศ์ ในขณะนั้นพระองค์ทรงเสวยวิสกี้พื้นบ้านซึ่งนำขึ้นมาถวายและทรงพอพระทัยกับวิสกี้จากโรงกลั่นริมทะเลสาบนาร์คา ทำให้พระองค์และพระนาง เจ้าวิกตอเรียทรงเสด็จไปพระราชทานตราประจำพระองค์ให้โรงกลั่นลอคนาร์คาด้วยพระองค์เอง จนมาเป็นรอยัลลอร์คนาร์คา

ปัจจุบัน รอยัลลอร์คนาร์คถือเป็นวิสกี้ที่ผลิตในจำนวนที่น้อยมาก เพราะเจ้าของคือบริษัทจอห์นนี่ วอล์กเกอร์ ทำให้วิสกี้ที่ถูกผลิตส่วนมากของรอยัลลอร์คนาร์คาจะนำไปเป็นส่วนผสมหลักของบลูเลเบิล เกือบทั้งหมด ในบรรดาวิสกี้จากไฮแลนด์ทั้งหมด ผม ออกจะชื่นชอบเกลนโมรังจี เนื่องจากรสชาติที่นุ่มและอมหวานเหมือนน้ำผึ้ง ทำให้ได้รสชาติที่กลมกล่อม โดย เฉพาะซีรีส์พิเศษอย่างเนคตาร์ดิออร์

นอกจากนี้ยังมีวิสกี้อีกสองชนิดที่ได้รับการยกย่อง คือ Talisker จาก Skye และวิสกี้จาก Islays ซึ่งปัจจุบัน มีสองยี่ห้อที่มีชื่อเสียงเป็นพิเศษคือ Laphroaig กับ Ardbeg บรรดาวิสกี้ที่ยกขึ้นมาจะมีกลิ่นไม้ที่แรงมากเรียกว่า Peated ซึ่งเรียกว่าเป็นจุดเด่นเพื่อบ่งบอกถึงคุณภาพของไม้ที่นำมาหมัก โดยรสชาติที่ออกมาจะได้จากไม้ เช่น รสเผ็ดจากไม้โอ๊ก รสหวานอมเปรี้ยวจากไม้เชอรี่

หากว่าเริ่มดื่มมอลต์จากมอลต์ผสมของจอห์นนี่ วอล์กเกอร์ กรีนเลเบิล ท่านผู้อ่านจะเริ่มชินกับรสชาติของทาลิสเกอร์ ซึ่งเป็นส่วนผสมหลักที่มีรสชาติที่เผ็ดและ ฉุนนำ แต่ในกรีนเลเบิลจะลดรสเผ็ดและความฉุนลงไปมากเนื่องจากได้วิสกี้อื่นๆ มาเพิ่มความนุ่มในรสชาติแทน แต่ถ้านำทาลิสเกอร์ไปเทียบกับอาร์ดเบคหรือราฟรอยด์ จะมีรสชาติที่อ่อนกว่า โดยเฉพาะราฟรอยด์ซึ่งเป็นวิสกี้ที่มีรสชาติและกลิ่นที่แรงที่สุดนั้น เป็นวิสกี้ที่เจ้าฟ้าชายชาร์ลทรงพระราชทานตราประจำพระองค์ให้

ในบรรดาวิสกี้จากหมู่เกาะนอกฝั่งสกอตแลนด์ คอนเนอซัวร์ด้านวิสกี้ของโลกอย่างจิม เมอเรย์ ยกให้ อาร์ดเบค โดยเฉพาะรุ่นอูจิดัลเป็นวิสกี้ที่ดีที่สุดในโลก อาร์ดเบคนั้นมีวิธีการผลิตที่ต่างจากวิสกี้ยี่ห้ออื่น กล่าวคือวิสกี้สายพันธุ์อื่นของอาร์ดเบค ยกเว้นอาร์ด เบค มาตรฐาน 10 ปีแล้ว จะ ตั้งชื่อพันธุ์และสูตรใหม่ทุกปี มีชื่อปีกำกับในบาง รุ่น เช่น นามไบสท์ที่ออกขายเมื่อปี 2009 จะกำกับว่าเป็นวิสกี้จากปี 1990 หรือ 19 ปี หลังจากรุ่นนามไบสท์หมดไปจากตลาดก็มีซีรีส์ใหม่ ออกมาแทนคือ คอรี เรค กัน วิสกี้จากตระกูลนี้มักมีราคาสำหรับนักสะสม เพราะเป็นวิสกี้บูติกที่ผลิตจำนวนน้อยมากและเปลี่ยนโมเดลแทบทุกปี

วิสกี้ชนิดสุดท้าย คือ วิสกี้ผสมหรือเบลนซึ่งเป็นวิสกี้ที่มีมากที่สุดในตลาด วิสกี้ผสมนั้นเกิดจาก เมืองคิลมาร์นอค เริ่มจากร้านขายของชำของตระกูล วอล์กเกอร์ ซึ่งนำวิสกี้ผสมออกขายจนได้รับความนิยมมาก ในยุคแรกนั้นบริษัทที่ทำวิสกี้มักจะเป็นร้านขายของชำหรือโรงกลั่นเล็กๆ ที่แลกหรือซื้อวิสกี้ จากโรงกลั่นอื่นๆ มาผสม ทำให้เกิดเป็นอุตสาหกรรม วิสกี้ขนาดใหญ่ขึ้นมาอย่างจอห์นนี่วอล์กเกอร์ บัลลัน ไทน์ ชีวาสรีกัล เฟมัสเกราส์ ต่างเกิดจากความร่วมมือของโรงกลั่นในการแลกเปลี่ยนวิสกี้กัน

ตรงนี้เองทำให้เกิดบรรทัดฐานในการถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน เพราะในบรรดาโรงกลั่นที่เหลือในปัจจุบันที่มีขนาดใหญ่พอที่จะอยู่ได้ด้วยตนเองและมีกำลังผลิตสู่ตลาดโลกในปริมาณมากก็เหลือแค่เพียง เกลนฟิดดิชเพียงแห่งเดียว ที่เหลือต่างเป็นโรงกลั่นบูติกขนาดเล็กหรือโดนอดีตสมาพันธ์ร้านขายของชำ หรือสมาคมโรงกลั่นเล็กที่มารวมตัวกันควบกิจการไปจนหมดสิ้น ข้อดีของ Blended มีหลายอย่างด้วยกัน เริ่มจากการที่โรงกลั่นหลายแห่งร่วมมือกัน ย่อมแก้ปัญหาวิสกี้ขาดแคลนได้ เพราะการที่จะเกิดการขาดแคลนของวิสกี้ในบางเขตก็สามารถซื้อวิสกี้จากบริษัทที่เป็นพันธมิตรและมีรสชาติใกล้เคียงกันมาผสมได้ รวมทั้งสามารถกระจายสินค้าที่ค้างสต็อก ของตนเองได้เช่นกัน ความร่วมมือดังกล่าวเป็นสิ่งที่ชาวเอเชียยากที่จะยอมรับ

ยกตัวอย่างประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีภูมิประเทศและ ภูมิอากาศในหลายเขตใกล้เคียงกับสกอตแลนด์และได้โหมลงทุนผลิตวิสกี้ในประเทศเป็นเงินมหาศาล แต่วิสกี้ญี่ปุ่นกลับไม่มีกำลังผลิตหรือเป็นที่ยอมรับในระดับโลก เพราะนอกจากยามาซากิของ ซันโตริแล้วยังหาที่สร้างชื่อเสียงได้น้อยมาก เนื่องจากญี่ปุ่นเห็นว่าโรงกลั่นอื่นๆ เป็นคู่แข่ง เมื่อเกิดมอลต์ขาดแคลนก็ลดกำลังผลิตเอา พอมีมอลต์มากก็ผลิต ออกมาจนเสียราคาและอิมเมจ ขณะที่สกอตแลนด์ใช้หลักการสามัคคีคือพลัง ทำให้มีสินค้าป้อนตลาดโลกได้อย่างไม่ขาดสายและรักษาราคาและคุณภาพได้อย่างสม่ำเสมอ

ประเด็นที่สองคือเรื่องรสชาติ ในฐานะที่ผมก็เคยเป็นพวกมอลต์สนอบบิชที่มองว่าเบลนเป็นวิสกี้ เกรดต่ำ แม้แต่ที่ราคาแพงมากๆ ถ้ามาวัดกับซิงเกิล แล้ว ราคาก็ถูกกว่ามาก แต่ที่จริงแล้วราคาไม่ได้แปลว่าเบลนมีรสชาติสู้มอลต์ไม่ได้ ที่จริงแล้วออกจะตรงข้ามกันเสียด้วยซ้ำ วิสกี้เบลนนั้นมีความหลาก หลายและรสชาติที่อยู่นอกกรอบของความคาดหมาย ได้มากกว่ามอลต์หลายเท่าตัว เพราะว่ามอลต์วิสกี้นั้นต่อให้ใช้มอลต์เกรดดีเพียงใด ไม้ที่เยี่ยมขนาดไหน หรือน้ำแร่ที่สะอาดเท่าไร ก็ไม่สามารถหนีพ้นคำว่าธรรมชาติไปได้ เพราะรสชาติที่มาจากธรรมชาติแท้ๆ ที่ไม่มีการปรุงแต่งรสชาติ ย่อมมีความหลากหลายที่ต่ำและง่ายต่อการคาดเดา

แม้แต่มอลต์ผสมอย่างกรีนเลเบิลจะเพิ่มความ หลากหลายมากขึ้นแต่ก็ยังไม่สามารถที่จะทำลายกรอบ ของรสชาติที่ธรรมชาติกำหนดให้กับมอลต์ได้ ซึ่งก็เหมือนกับการดื่มกาแฟ ไม่ว่าจะมาจากจาเมกาอย่างบลูเมาเทน บราซิล โคลัมเบีย อิตาลี หรือแม้แต่กาแฟไทย รสชาติและความอร่อย อาจ จะผิดกันพอสมควรแต่ก็ไม่ได้เหนือความคาดหมายแต่อย่างไรเพราะธรรมชาติได้กำหนดรสชาติมาให้กับกาแฟแล้ว

ในขณะที่การดื่มน้ำอัดลมที่มีการปรุงแต่งรสชาติ และการใช้ส่วนผสมทางวิทยาศาสตร์นั้น สามารถที่จะสร้างรสชาติที่อยู่เหนือขอบเขตของการคาดเดาได้อย่างมหาศาล เช่นเดียวกันกับเบลนวิสกี้ การเอาวิสกี้หลายๆ ชนิดมาผสม ทั้งที่สกัดจากมอลต์ ข้าวโพด ข้าวไรน์ มาผสมกัน และปรุงแต่งรสเช่นใช้คาราเมล ประกอบกับวิสกี้ที่หมักจากถังไม้หลายๆ พันธุ์ รสชาติที่ออกมาย่อม ต้องอยู่เหนือการคาดเดาของนักดื่มได้เสมอ

แม้บรรดานักวิจารณ์ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า การให้คะแนนวิสกี้เบลนนั้นต้องกดคะแนนมากๆ นั่น ไม่ได้แปลว่ารสชาติไม่ดี แต่นักชิมต่างให้ความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่าการเอาวิทยาศาสตร์มาผสมย่อมทำให้รสชาติ ดีกว่าธรรมชาติ ดังนั้นการให้คะแนนต้องตัดปัจจัยเรื่องรสชาติลงไปเพราะเป็นการเอาเปรียบวิสกี้ชนิดอื่นเกินไป เหมือนเอาโค้กไปวัดกับกาแฟ เพราะกาเฟอีน ต้องลด คะแนนเรื่องความหวานหรือความกลมกล่อมลงไป เพราะ กาแฟต่อให้ผสมเป็นเอสเปรสโซ หรือคาปูชิโน ก็หลากหลายสู้โค้กที่เอาวานิลา หรือเชอรี่มาผสมไม่ได้ เช่นเดียว กัน เบลนวิสกี้เป็นวิสกี้ที่มีความหลากหลายสูงเกินกว่าการคาดเดา อาจจะไม่ได้รับคะแนนจากนักดื่มมากนัก แต่ในเรื่องรสชาติ การตลาด และกำลังผลิตนั้นกลับ เอาชนะบรรดามอลต์วิสกี้ไปอย่างถล่มทลาย เพราะยี่ห้อดังๆ ที่เรารู้จักในโลกทั้งสกอตแลนด์ อเมริกา แคนาดา ไอร์แลนด์ ไม่ว่าจะเป็นรอยัลซาลูท บลูเลเบิล คราวน์รอยัล แจ็คแดเนียล ล้วนแต่เป็นเบลน โดยทั้งสิ้น

ถ้าเอาความร่วมมือของโลกวิสกี้มาเป็นที่ตั้งเราจะพบว่าการทำธุรกิจใดๆ ก็ตาม การเอาคู่แข่งมาเป็นมิตรย่อมส่งผลดีอย่างคาดไม่ถึงได้เสมอ ทางการเมืองระหว่างประเทศก็เช่นกัน การที่ประเทศ กำลังพัฒนาขยันหาศัตรูทางการค้าเพราะขายสินค้าเหมือนกันย่อมส่งผลเสียให้ตนเองเช่นตัดราคากันเองและตกเป็นเหยื่อของมหาอำนาจ แต่ถ้าเกิดประเทศขนาดเล็กที่ขายสินค้าเหมือนกัน รวมตัวกัน แชร์ผลผลิตกัน แบบที่ประเทศในกลุ่มโอเปก ซึ่งส่งผลให้เกิดพลังในการกำหนดราคาสินค้า กำแพง ภาษี การแชร์เทคโนโลยีทั้งทางเกษตรและอุตสาห-กรรมทำให้มีอำนาจต่อรองในระดับสากล

หากเราคิดที่จะประสบความสำเร็จในทางธุรกิจ การเมือง หรือการต่างประเทศ การหาคู่แข่งให้เจออาจจะเป็นเรื่องยาก การแข่งขันและเอาชนะคู่แข่งได้อาจจะเป็นเรื่องยากยิ่งกว่า แต่ที่สุดของพิชัยสงครามแล้วคือการทำให้คู่แข่งเป็นมิตรให้ได้ต่างหากถึงจะเป็นจุดสุดยอด

หากเรามุ่งแต่จะเอาชนะคะคานกันในสังคมย่อมสร้างแต่ความไม่เข้าใจกัน ความเกลียดกันในสังคม แต่การที่เราจะหาทางทำให้เราอยู่ด้วยกันแบบถ้อยทีถ้อยอาศัยต่างหากถึงจะทำให้อยู่กันอย่างสมานฉันท์ได้ในที่สุด

When I drink  whiskey, I drink whiskey; and when I drink water, I drink water

ออฟไลน์ choke

  • Sophomore MC27/30
  • **
  • กระทู้: 2,083
  • ถูกใจ: +20/-0
  • long lasting
Re: บทความดีๆที่เจอครับ
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: สิงหาคม 17, 2011, 11:37:17 AM »
อาจจะเก่าไปนิด พี่ๆบางคนคงเคยอ่านบทความนี้มาแล้ว แต่เค้าเขียนดีจริงๆ(ผับผ่าสิ)



เครดิต:  นิตยาสารผู้จัดการโดย ชาคริต เทียบเธียรรัตน์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กันยายน 2553)
When I drink  whiskey, I drink whiskey; and when I drink water, I drink water

ออฟไลน์ choke

  • Sophomore MC27/30
  • **
  • กระทู้: 2,083
  • ถูกใจ: +20/-0
  • long lasting
Re: บทความดีๆที่เจอครับ
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: สิงหาคม 17, 2011, 11:41:43 AM »
ฉบับก่อนหน้านั้นครับ

                                    วิสกี้ใต้แสงจันทร์ สัญลักษณ์แห่งอารยขัดขืน
          ทุกครั้งที่ผมไปเยี่ยมเยียนเพื่อนๆ หลายคนได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในเรื่องต่างๆ เรื่องที่พวกเขาอยากให้ผมตอบมักจะไม่พ้นสามเรื่อง คือ การเรียน การตั้งถิ่นฐานและลงทุนทางธุรกิจ สุดท้ายคือเรื่องเหล้า ก่อนอื่นผมต้องขอออกตัวสักนิดว่าผมไม่ได้เป็นนักดื่มแต่อย่างใด แต่เหตุผลที่ผมมีความรู้ด้านนี้มาจากการศึกษาพูดคุยกับผู้รู้ในด้านนี้ ทำให้ผมเคยมีชื่ออยู่ในลิสต์ผู้ถูกเชิญให้ไปร่วมงานเทสติ้ง เหล้าและไวน์อย่างสม่ำเสมอ ด้วยเหตุผลดังกล่าวทำให้ผมพอมีความรู้อยู่บ้าง ในฉบับที่ผ่านมาผมเล่า เกี่ยวกับไวน์ในนิวซีแลนด์ไปแล้ว คราวนี้ผมขอเล่าถึงประวัติของวิสกี้ ซึ่งแบ่งเป็นสองบท โดยบทแรกผมจะพูดถึงประวัติของวิสกี้และความเกี่ยวข้องกับการเมือง ในฉบับต่อไปผมจะพูดถึงวิสกี้ชนิดต่างๆเท่าที่ผมพอจะทราบ

คำว่าวิสกี้นั้นคนไทยโดยมากแปลว่าเหล้า ซึ่งเหล้าอย่างแม่โขงเราก็เรียกว่า ไทยวิสกี้ ทั้งๆ ที่ในต่างประเทศวิสกี้หมายถึงเหล้าที่ทำมาจากข้าว ขณะที่เหล้าที่ทำมาจากอ้อย หรือโมลาซ แบบเหล้าไทยนั้นถูกจัด ว่าเป็นเหล้ารัม ซึ่งมีประวัติในต่างประเทศ ควบคู่ไปกับชาวเรือ ไม่ว่าจะเป็นโจรสลัดแห่งคาริเบียน หรือราชนาวีอังกฤษ อย่าง เหล้ารัมเหรียญทองสองสมัยที่มีชื่อเสียงคือ พุสเซอร์ของเกาะบริติช เวอร์จิน จะใช้ ธงราชนาวีอังกฤษเป็นตราบริษัทเพราะได้รับอนุญาตให้เป็นเครื่องหมายการค้า โดยเฉพาะรุ่นพิเศษที่บ่มนานเจ็ดปี จะใช้ชื่อว่า Nelson Blood Flagon หรือเลือด เนลสัน เนื่องมาจากตำนานราชนาวีอังกฤษที่มีคำว่า Tapping Admiral หรือ ดื่มนายพลเรือ ซึ่งทหารเรือปัจจุบันเชื่อว่า มาจากการดื่มเพื่อนายพลเรือเนลสันที่ชนะ กองทัพเรือฝรั่งเศสที่ยุทธการทราฟัลกา

มีเรื่องเล่าว่าในยุทธการทราฟัลกา ท่านจอมพลเรือเนลสัน ฮาราทิโอ รบอย่าง กล้าหาญ แม้จะโดนยิงก็ยังบัญชาการรบจนทัพเรือของนโปเลียนแตกพ่ายก่อนเนลสันจะเสียชีวิตเพราะทนพิษบาดแผลไม่ไหว เนื่องจากวีรกรรมอันเลื่องชื่อ ทหารเรือจึงนำเอาศพของเนลสันไปไว้ใน ถังเหล้ารัม เพื่อรักษาสภาพศพ แต่เมื่อเปิด :-X บศพ หลังจากที่เรือรบเทียบท่าที่อังกฤษ ปรากฏว่าศพท่าน จอมพลยังอยู่แต่เหล้ารัมได้อันตรธานไปจนหมดสิ้น ซึ่งก็ไม่ได้หายไปไหน นอกจากบรรดาลูกเรือต่างหิวเหล้าจึงแอบจิบวันละนิด กว่าเรือจะเทียบท่าก็หมดถังพอดี เนื่องจากเหล้าที่แช่ศพได้ปนกับเลือดเนลสัน ไปด้วยทำให้ทหารเรืออังกฤษที่โดนสอบสวนได้พลิกวิกฤติเป็นโอกาส โดยอ้างว่าลูกเรืออังกฤษอยากดื่มเลือดท่านนายพลเพื่อที่จะได้มีความกล้าหาญเหมือน ท่านจอมพลเรือ ต่อมาทำให้เกิดประเพณีในกองทัพ เรือของเครือจักรภพรวมทั้งนิวซีแลนด์ที่ต้องดื่มเหล้า รัมซึ่งเป็นตัวแทนของเลือดเนลสัน ก่อนที่นักเรียนนายเรือจะออกเรือหนแรกเพื่อเรียกความกล้า

สำหรับเหล้าวิสกี้เองก็มีประวัติพิสดารไม่แพ้เหล้ารัม แต่ เป็นประวัติการทำอารยขัดขืน ในอังกฤษ ถ้าดูตามประวัติแล้วไวน์เป็นเหล้าของศาสนจักร แชมเปญเป็นเหล้าของชนชั้นปกครอง คอนยัคเป็นเหล้าของขุนนางชั้นสูง รัมเป็นเหล้าของชาวเรือ เบียร์เป็นเครื่องดื่มชนชั้น กรรมาชีพ วอดก้าเป็นเครื่องดื่ม รากหญ้า วิสกี้เป็นเครื่องหมาย ของเสรีชนที่สู้กับความอยุติธรรม ของกฎหมายในอดีต วิสกี้นั้นเป็นเหล้าที่เก่าแก่มีประวัติสืบเนื่องมาจากการที่ไวน์ขาดแคลน ในยุคกลาง สกอตแลนด์และไอร์แลนด์ไม่สามารถปลูกองุ่นได้ตามที่โบสถ์ต้องการ พระเจ้าเจมส์ที่สี่แห่งสกอต แลนด์ทรงพระราชทานข้าวมอลต์ให้โบสถ์นำไปทดลองผลิตเหล้าในจำนวน 1,500 ขวด ปรากฏว่าประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามจนเป็นวิสกี้ ทำให้วิสกี้เข้ามาแทน ที่ไวน์ แต่ว่าในยุคนั้นวิสกี้ยังอยู่ในมือของพระส่วนน้อย จนกระทั่งพระเจ้าเฮนรี่ที่แปด ทรงมีพระราชดำรัสยกเลิกการผูกขาดการผลิตวิสกี้ของโบสถ์ จึงส่งผลให้ชาวนาที่ปลูกข้าวบาร์เลย์กันทั่วประเทศเริ่มหันมาปรุงเหล้ากันแทน

แต่ เมื่ออังกฤษเข้าสู่ตอนปลายของราชวงศ์สจวต ประเทศประสบปัญหาหลายอย่างซึ่งเรื้อรังมาตั้งแต่สงครามในรัชสมัยพระเจ้าชาร์ ลที่หนึ่งกับนายพลครอมเวลล์ทำให้การคลังของประเทศเริ่มฝืดเคืองจึงเริ่มออก นโยบายเก็บอากรสุรา และการออกใบอนุญาตให้กับโรง กลั่นเหล้า ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้โรงกลั่นอิสระและโรงกลั่นขนาดเล็กต้องปิดตัวลง ต่อมาเมื่อเปลี่ยนราชวงศ์ มาเป็นราชวงศ์วินเซอร์ที่ครองราชย์จนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีถิ่นกำเนิดมาจากแคว้นฮันโนเวอร์ในเยอรมนี (ทำให้ชาวอังกฤษชอบค่อนแคะราชวงศ์อังกฤษว่าเป็นชาวเยอรมัน) บรรดาขุนนางที่จงรักภักดีกับราชวงศ์สจวตและเชื้อพระวงศ์สจวตได้กรีธาทัพมาทำ ศึกชิงราชบัลลังก์ โดยอาศัยนักรบจากสกอตแลนด์ซึ่งมีชื่อเสียงด้านความจงรักภักดีมากที่สุดมารบ โดยเรียกกันว่า จาโคไบน์ แน่นอนครับ เมื่อเสร็จศึกกับจาโคไบน์ อังกฤษก็ประสบ ปัญหาทางด้านการเงินจึงต้องเพิ่มภาษีอากร ประจวบกับการที่บรรดาชาวสกอตหันไปเข้าข้างราชวงศ์เดิม จึงมีแผนการสลายวัฒนธรรมสกอตติช ด้วยการเก็บภาษี มอลต์ตามโรงกลั่นที่นำข้าวบาร์เลย์มาทำเหล้า ส่งผลให้บรรดาโรงกลั่นทั้งสกอตแลนด์ล่มจมทั้งประเทศ

คำพูดที่มีชื่อเสียงของพวกสังคมนิยมคือตายสิบเกิดแสนนั้นมีตัวอย่างก่อนที่คาร์ล มาร์กจะถือกำเนิดมาบนโลกนี้เสียอีก เพราะสกอตแลนด์ในยุคนั้นเมื่อโรงกลั่นเจ๊งบ๊งไปหมด บรรดาเสรีชนชาวสกอตจึงเริ่มหันมาต้มเหล้ากันไปทั่วประเทศ ทีนี้รัฐบาลก็แก้เผ็ดพวกหัวหมอด้วยการส่งข้าหลวงตามเก็บค่าต๋งตามบ้าน ด้วยการชี้แจงว่าเป็นข้อหาตั้งโรง กลั่นในบ้าน ถือเป็นการก่อการร้ายเพราะพบอาวุธของกลางมากมายโดยเฉพาะถังหมักเหล้า เจอไม้นี้เข้าไปม็อบสกอตแลนด์จึงหันมาวิวัฒนาการหมักด้วย การเอาโลงศพมาหมัก ทีนี้ไม้โลงศพกับไม้โอ๊กสำหรับ ถังเหล้าก็คนละอย่าง ทำให้ได้เหล้ารสชาติใหม่ แต่ทีนี้รัฐบาลก็จัดการพวกหัวหมอด้วยการสำรวจว่าถ้าเขตไหนคนตายน้อย ไม้หายไปเยอะ บ้านไหนโลงศพเพียบก็โดนตรวจอีก งานนี้สับปะเหร่อก็งานเข้า ไปก่อน ชาวบ้านก็ต้องหาทางออกต่อไป ด้วยการเอาถังสังกะสี อะลูมิเนียมมาใช้ในการหมักเหล้าแทน ตรงนี้ทำให้ชาวสกอตติชได้เรียนรู้เทคโนโลยีใหม่คือการหมักเหล้าในปริมาณมากแบบอุตสาหกรรมด้วยการใช้ถังอะลูมิเนียม เนื่องจากเหล้าที่เราเห็นในตลาด บางยี่ห้อที่ขายกันเป็นสิบๆ ล้านลิตรต่อชนิดนั้นไม่สามารถหมักในถังไม้ได้แน่ เพราะคงไม่น่าจะหาต้นไม้มาทำถังได้พอ

ผม เคยอ่านหนังสือซึ่งมีคนพูดไว้ว่าความขาดแคลนและกันดาร ทำให้มนุษย์นำเอาสมองมา พัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ แทนสิ่งที่ขาดหายไป คำพูด นี้คงไม่เป็นที่เกินเลย เพราะถ้าไม่มีการกดขี่ชาวสกอตติช เหล้าวิสกี้คงไม่มีการพัฒนามาหลายรูปแบบจนเป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศ อังกฤษอย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน

เมื่อจับไม่ได้ไล่ไม่ทันอย่างนี้ รัฐบาลจึงให้ข้าหลวงไปตรวจใหม่โดยให้สังเกตจากบ้านที่มีควันออกมา เพราะการต้มยังไงก็ต้องมีควัน ยิ่งถ้ากลางวันแสกๆ แดดร้อนๆ แล้วดันมีควันออกมาจากบ้าน ไหน ท่านข้าหลวงจะรีบไปล้อมพื้นที่เพื่อจับกุมม็อบข้อหาต้มเหล้าเถื่อนทันที ถ้าฤดูหนาวอาจจะไม่เท่าไหร่เพราะคนคงจุดเตาผิงไปทั่ว ท่านข้าหลวงคงตรวจยาก แต่ถ้าฤดูร้อนใครดันจุดไฟต้มเหล้าตอนกลางวันมีสิทธิงานเข้า ชาวสกอตติชจึงหันไปต้มเหล้ากันตอนกลางคืนแทน เพราะท่านข้าหลวงและเจ้าเมืองนอนหลับหมดแล้ว แถมกลางคืนใครๆ ก็จุดไฟกันเพราะความหนาวของสกอตแลนด์ แม้ว่าจะไม่หนาวความมืดก็จะทำให้ไม่เห็นควันไปเอง ทำให้เกิดวัฒนธรรมต้มเหล้าเถื่อนใต้แสงจันทร์เรียกกันว่า Moonshine มาจนถึงปัจจุบัน เพราะว่าเสรีชนชาวสกอตติชที่ทำอารยขัดขืนต่อต้านอำนาจรัฐได้อาศัยว่า แค่เรามีเพียงถังต้มเหล้าเดียวดายภายใต้แสงจันทร์ ก็สามารถทำวิสกี้ออกมาได้แล้ว จนเป็นที่รู้กันดีว่าวิสกี้คือเครื่องดื่มของเสรีชนที่พยายามต่อต้านการลุแก่อำนาจของรัฐด้วยการทำอารยขัดขืน

เมื่อโดนมุกงานวิวาห์เดียวดาย (ของ single malt) ภายใต้แสงจันทร์เข้าไป รัฐบาลอังกฤษก็ต้องกลับไปหานโยบายใหม่ โดยนำนโยบายเก็บภาษีข้าว บาร์เลย์กับทุกครัวเรือนขึ้นมา ทำให้เกิดอารยขัดขืนแขนงใหม่ ด้วยการเอาข้าวพันธุ์อื่นผสมกับข้าวบาร์เลย์ จนทำให้เกิดเหล้าผสมอย่าง Blend ขึ้นมา เมื่อบรรลุ ธรรมว่าไม่จำเป็นเพียงข้าวบาร์เลย์ ชาวสกอตติชจึงต้มเหล้าเถื่อนกันขนานใหญ่โดยเอาพืชมาทำกันจนเกิดเหล้าที่ทำจากข้าวไรน์ ข้าวสาลี รวมถึงข้าวโพด ต่อมาไปเจริญเติบโตในอเมริกาเป็นเหล้าเบอร์เบิร์น วิสกี้จนถึงทุกวันนี้ ในยุคนั้นทำให้เกิด Grain วิสกี้ หรือเหล้าที่เกิดจากข้าวหรือเมล็ดพันธุ์พืชที่ไม่ใช่ข้าวบาร์เลย์ จนทำให้สัญลักษณ์อารยขัดขืนอย่างวิสกี้ระบาดไปทั่วเหมือนหวยใต้ดินที่ระบาดในประเทศสารขันท์

หลังจากทำสงครามจิตวิทยากับเสรีชนมาเกือบร้อยปี ในที่สุดรัฐบาลก็ต้องยกธงขาวยอมแพ้โดยให้วิสกี้กลับมาอยู่บนดินได้ ด้วยการอนุญาตให้ตั้งโรงกลั่นให้ถูกต้องตามกฎหมายโดยเสียภาษีและใบอนุญาตตามปกติ คราวนี้ทำให้เกิดโรงกลั่นผุดขึ้น มาเป็นดอกเห็ด เพราะเมื่ออยู่บนดินได้ก็ไม่มีใครอยาก ที่จะไปอยู่ใต้ดิน โดยรัฐบาลได้ปรับแนวใหม่เพื่อ สนับสนุนอุตสาหกรรมวิสกี้สกอต เพื่อการส่งออกด้วย วิธีการแปรรูป Moonshine จากเหล้าเสรีชนเป็นเหล้า ไฮโซ โดยพระเจ้าจอร์จที่สี่ทรงเสด็จไปสกอตแลนด์เสวยวิสกี้ซิงเกิ้ลมอลต์อายุ 18 ปีของเกรนลิเวย์ ทำให้เกรนลิเวย์เป็นวิสกี้ยุคแรกๆ ที่ได้พระบรมราชานุญาต (Royal Warrant) จากพระเจ้าแผ่นดินให้โฆษณาได้ว่า เป็นวิสกี้ที่พระเจ้าแผ่นดินอังกฤษทรงเสวย ซึ่งต่อมาได้เป็นบรรทัดฐานของเหล้าวิสกี้ที่มีภาพเป็น เครื่องดื่มของทั้งเสรีชน ปัญญาชน ชนชั้นกลาง และขุนนาง โดยพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษ ทุกพระองค์ต่างทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตแก่บริษัทวิสกี้ที่ทรงโปรด เช่นพระนางเจ้าวิกตอเรียทรงโปรดเฟมัสเกราส์จึงพระราชทานตราให้บริษัทเอาไปใช้ในรัชสมัยของพระองค์ ขณะที่สมเด็จพระนางเจ้าอลิซาเบทที่สองทรงโปรดจอห์นนี่ วอล์คเกอร์ ได้ทรงพระราชทานสิทธิในการนำตรา ประจำพระองค์ให้บริษัทมาติดไว้ด้านบนของขวดอย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน

นอกจากพระเจ้าแผ่นดิน องค์มกุฎราชกุมารของอังกฤษก็สามารถพระราชทานตราประจำพระองค์ให้กับบริษัทที่ทรงโปรด โดยเจ้าฟ้าชายชาร์ลพระราชทานตราประจำพระองค์ให้วิสกี้บูติกยี่ห้อราฟรอยด์ ซึ่งมีกำลังผลิตเพียงสองล้านลิตรต่อปีซึ่งไม่ได้แม้แต่ 1% ของส่วนแบ่งของตลาดในสกอตแลนด์ โดยพระองค์เสด็จไปพระราชทานให้ถึงโรงกลั่นซึ่งอยู่บนเกาะนอกฝั่งสกอตแลนด์ด้วยพระองค์เองในปี 1994 ทำให้ราฟรอยด์ 15 และ 18 ปี จัดว่าเป็นวิสกี้ชั้นนำของ โลก ไม่แพ้วิสกี้บูติกดังๆ อย่างทาลิสเกอร์ อาร์ดเบค เกรนโมรังกี หรือเกรนลิเวย์

ในประเทศนิวซีแลนด์ เมื่อตอนที่ตั้งประเทศนิวซีแลนด์ วิสกี้ยังคงเป็นเครื่องดื่มที่ผิดกฎหมายชาวกีวี โดยเฉพาะทางเกาะใต้นั้นได้ชื่อว่าเป็นเสรีชนขั้นรุนแรงอาจจะเป็นเพราะว่ามาจากสกอตแลนด์แถมอยู่ไกลหูไกลตารัฐบาลที่ลอนดอน จึงเริ่มทำการต้มเหล้าเถื่อนกัน อย่างเป็นล่ำเป็นสัน โดยเฉพาะที่แคว้นเซาต์แลนด์กับโอทาโก โดยเฉพาะที่เขาโฮโกนุยที่อยู่ทางตอนใต้ของประเทศและเป็นทำเลทองในการต้มเหล้าเถื่อน โดยต้มเสร็จก็บรรจุถังอะลูมิเนียมตามประเพณีเหล้าเถื่อนทุกประการ ในยุคนั้นตำรวจรู้ดีว่ามีการต้มเหล้าเถื่อนที่ไหน ดังนั้นการจะหมักไว้นานย่อมเป็นอันตรายจากการขอพื้นที่คืนได้ จึงต้องมีการขายออกไปให้เร็วที่สุด โดยการที่จะไปใส่ขวดขายตามซูเปอร์มาร์เก็ตย่อมไม่สามารถทำ ได้ ดังนั้นทางออกในสมัยนั้นคือการขายตรง แต่จะไปเคาะประตูแล้วบอกว่า เหล้าเถื่อนมาแล้วค่ะ ก็คงทำไม่ได้เหมือนพวกบริษัทเครื่องสำอาง จึงต้องใช้วิธีแอบขาย ด้วยรถส่งนม ภายใต้โครงการสั่งนมแถมเหล้าเถื่อน พูดง่ายๆ คือเอาเหล้าที่ต้มได้บรรจุลงขวดนมและส่งไปตามบ้าน โดยถ้าบ้านไหนสั่งซื้อก็จะได้เหล้ามาในขวดนมพอดื่มหมดก็คืนขวด เดี๋ยวก็จะมีเหล้าขวดใหม่มาพร้อมกับนมเอง

นอกจากนี้ยังมีการขายในขวดที่ดูเหมือนสารเคมี โดยเฉพาะที่ผลิตจากเขาโฮโกนุยจะเอาฉลากยาพิษแบบหัวกะโหลกไขว้มาติดเพื่อให้รัฐบาลไม่ตรวจ พอรัฐบาลโดนมุกนี้เข้า เลยยอมยกธงขาวให้ นิวซีแลนด์มีโรงกลั่นได้ถูกต้องตาม กฎหมาย ยุคที่ผ่านมามีเหล้าหลายยี่ห้อ เช่น แมคเคนซี่ ซึ่งบรรจุขวด ที่เหมือนขวดนม วิลสันซึ่งเป็นเหล้าที่มาจากดันเนดิน แต่ตอนหลังไปไม่รอด ปัจจุบันออกขายในชื่อมิลฟอร์ดแทน ที่มีสีสันที่สุดคือ โฮโกนุย แม้จะ ขึ้นมาบนดินก็ยังเอาขวดยาพิษพร้อมฉลากหัวกะโหลกมาติดขายต่อไป ซึ่งมีฉลากเป็นแบบยาพิษแต่มีคำบอกกล่าวว่าเป็นเหล้า ซึ่งที่จริงก็คือยาพิษทำลายชีวิตของคนงมงาย

เมื่อให้เหล้าเถื่อนมาเป็นเหล้าเสรีได้ นิวซีแลนด์จึงเปิดเสรีด้านแอลกอฮอล์ โดยเหล้าในร้านเหล้าหลายแห่งของนิวซีแลนด์นั้นมีความหลากหลายสูงมาก มีวิสกี้ จากทั่วโลกโดยเฉพาะเหล้าแบบ Single Malt โดยทั่วไป มีกำลังผลิตเพียง 4% ของตลาดโลก ก็สามารถหาซื้อได้ ในนิวซีแลนด์ ต่อมาคำว่าเสรีนั้นครอบคลุมไปถึงการอนุญาตให้ทุกๆ บ้านสามารถต้มเหล้าได้ถ้าซื้อเครื่องมือ ที่ได้มาตรฐาน เรียกว่าเป็นประเทศพัฒนาแล้วประเทศ แรกในโลกที่อนุญาตให้ประชาชนทำ Moonshine กันเองโดยไม่ผิดกฎหมาย อุปกรณ์ต้มเหล้าจริงๆ แล้วสนนราคาตกอยู่ที่ประมาณ 6,000 ดอลลาร์ หรือ 150,000 บาท สามารถมีโรงต้มเหล้าเป็นของตนเอง

ปรากฏว่าเมื่ออนุญาตไปแล้วก็ไม่ได้ทำให้คนหันมาทำ OTOP เหล้าเถื่อนมากมายอะไรนัก เพราะเมื่อเปิดเสรีไปหมดแล้ว การต้มเหล้าเองทั้งเสียเวลา ต้นทุนก็สูง รสชาติก็สู้เหล้าดีๆ ที่มีมอลต์อย่างดีไม่ได้ ก็ทำให้เครื่องต้มเหล้านั้นเป็นแค่งานอดิเรกของคนที่ชอบจริงๆ หรือไม่ก็นักศึกษาภาควิชา Viticulture and Oenology ที่ต้องมีห้องทดลองในการทำเหล้าของตนเองเพื่อไปเป็น Master Blender ในอนาคต

เมื่อหันมามองเมืองไทยแล้วก็ทำให้ผมเกิดข้อคิด ขึ้นมาว่า การที่เราห้ามคนทำสิ่งต่างๆ รวมทั้งห้ามการโฆษณาเหล้าตามนโยบายของนักการเมืองที่เคร่งศาสนา แท้จริงแล้วไม่ได้ส่งผลดีให้กับประเทศชาติ ศาสนา หรือเยาวชนแต่อย่างใด เพราะเป็นการทำให้ เกิด Third Person Effects กล่าวคือ ท่านที่เป็นผู้ใหญ่มาห้ามคนอื่นไม่ให้ทำเพราะความหวังดีกลัวว่าเขาจะสร้างปัญหาในสังคม ผมกลับมองว่ายิ่งห้าม ยิ่งมีคนดื่ม เพราะโดยธรรมชาติมนุษย์แล้วยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ เพราะคิดว่าเป็นการได้เรียนรู้ชีวิต

การที่เราไปขีดกฎเกณฑ์ในสังคมตาม Third Person Effect นั้น ไม่ได้ทำให้เกิดผลดี เพราะนั่นเป็นการสร้างกระแสต่อต้าน ยิ่งทำให้ขยายวงกว้างออกไป เพราะเมื่อได้ลองแล้วมองว่าทำแล้วเป็นการต่อต้านสังคมแบบอารยขัดขืน ก็จะย้ำคิดย้ำทำ จน ทำให้คนไม่น้อยหันไปติดเหล้าจริงๆ แต่ถ้าเปิดเสรีให้สิ่งที่เราห้ามนั้นให้มาเป็นสิ่งปกติในสังคม กระแสอยากลองและอยากต่อต้านก็จะน้อยลง แล้วอาจจะหายลงไปในที่สุด จากบทเรียนของนิวซีแลนด์ ทำให้ผมได้เห็นว่าถ้าอะไรที่ห้ามๆ ในอดีต ก็ไปทำให้มันอยู่บนดินให้หมด นอกจากจะควบคุมได้แล้วยังทำให้ลดปริมาณลงอย่างรวดเร็วเพราะคนจะเบื่อไปเอง

ถ้าสังคมไทยเราพร้อมที่จะละความคิดแบบ Third Person Effect ได้แล้วหันมาคิดว่า ในอดีตที่ผ่านมา นักการเมือง ข้าราชการ ครูบาอาจารย์ องค์กรอิสระ ผู้ใหญ่ ชอบสอนเด็กๆ ว่า ตามหลังผู้ใหญ่หมาไม่กัด เชื่อผู้ใหญ่เพราะผู้ใหญ่รู้ดี เราอาบน้ำร้อนมาก่อน แต่ทำไมผู้ใหญ่ไม่หันกลับไปมองตนเองสักนิดว่าที่ท่านมาอยู่ตรงนี้ได้เพราะท่านได้เรียนรู้จากความผิดพลาดในอดีต เพราะท่านเอาความผิดพลาดมาเป็นบทเรียน ท่านจึงก้าวเดินต่อไป จนมีวันนี้ได้ วันนั้นท่านเชื่อตนเองเพราะท่านคิดว่าท่านรู้ดีที่สุด บางอย่างที่แหกกฎเกณฑ์ในอดีตกลับมา เป็นบันไดให้ท่านประสบความสำเร็จมาแล้ว

ผมสังเกตมาหลายหนว่าเวลาที่คนไทยเรามีลูก พอลูกหัดเดิน หัดคลาน พอหกล้ม เราจะไปช่วยพยุง กว่าเด็กจะเดินเป็นเองต้องมีคนประคบประหงมกัน จนทำให้เด็กจำนวนไม่น้อยต้องการให้คนอื่นมาช่วย เขาจนขาดความรับผิดชอบในสังคม ผมมองฝรั่งเลี้ยงลูก เขาปล่อยให้ลูกคลานไป พอหัดเดินจะล้มพ่อแม่ก็ยืนดู ไม่ได้แปลว่าเขาใจร้าย แต่เขาสอนให้เด็กหัดยืนด้วยตนเอง เมื่อยืนเองได้ เดินเองได้ เด็กคนนั้นก็จะเป็นผู้ใหญ่ที่กล้าตัดสินใจ กล้าที่จะรับผิดชอบทั้งตนเองและผู้อื่นในอนาคต   


When I drink  whiskey, I drink whiskey; and when I drink water, I drink water

ออฟไลน์ otrue

  • มักเหล้าคลับ
  • Junoir MC27/30
  • ***
  • กระทู้: 3,827
  • ถูกใจ: +33/-0
  • ขอบคุณ Montfort27 ที่ให้ผมเป็นส่วนหนึ่งของบอร์ดดีๆ
Re: บทความดีๆที่เจอครับ
« ตอบกลับ #3 เมื่อ: สิงหาคม 17, 2011, 01:53:21 PM »

สำหรับเหล้าวิสกี้เองก็มีประวัติพิสดารไม่แพ้เหล้ารัม แต่ เป็นประวัติการทำอารยขัดขืน ในอังกฤษ ถ้าดูตามประวัติแล้วไวน์เป็นเหล้าของศาสนจักร แชมเปญเป็นเหล้าของชนชั้นปกครอง คอนยัคเป็นเหล้าของขุนนางชั้นสูง รัมเป็นเหล้าของชาวเรือ เบียร์เป็นเครื่องดื่มชนชั้น กรรมาชีพ วอดก้าเป็นเครื่องดื่ม รากหญ้า วิสกี้เป็นเครื่องหมาย ของเสรีชนที่สู้กับความอยุติธรรม ของกฎหมายในอดีต วิสกี้นั้นเป็นเหล้าที่เก่าแก่มีประวัติสืบเนื่องมาจากการที่ไวน์ขาดแคลน ในยุคกลาง สกอตแลนด์และไอร์แลนด์ไม่สามารถปลูกองุ่นได้ตามที่โบสถ์ต้องการ พระเจ้าเจมส์ที่สี่แห่งสกอต แลนด์ทรงพระราชทานข้าวมอลต์ให้โบสถ์นำไปทดลองผลิตเหล้าในจำนวน 1,500 ขวด ปรากฏว่าประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามจนเป็นวิสกี้ ทำให้วิสกี้เข้ามาแทน ที่ไวน์ แต่ว่าในยุคนั้นวิสกี้ยังอยู่ในมือของพระส่วนน้อย จนกระทั่งพระเจ้าเฮนรี่ที่แปด ทรงมีพระราชดำรัสยกเลิกการผูกขาดการผลิตวิสกี้ของโบสถ์ จึงส่งผลให้ชาวนาที่ปลูกข้าวบาร์เลย์กันทั่วประเทศเริ่มหันมาปรุงเหล้ากันแทน



ขอเพิ่มข้อมูลสำหรับพิจารณาเพิ่มครับ

ที่เหล้าวิสกี้เข้ามาเริ่มผลิตในสกอตแลนด์ เนื่องจากในสมัยพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 มีความพยายามหย่ากับสมเด็จพระราชินีแคทเธอรีนจึงกดดันพระสันตะปาปาโดยการทำให้ศาสนาคริสและพระคาทอลิกตกต่ำ และมีประกาศให้พระองค์ทรงเป็นพระประมุขของนิกายเชิร์ชออฟอิงแลนด์ (Church of England) และมีพระบรมราชโองการประกาศให้การอภิเษกกับพระนางแคทรีนเป็นโมฆะ

พระคาทอลิกส่วนหนึ่งจึงย้ายไปสกอตแลนด์พร้อมกับความรู้ในการผลิตวิสกี้


นอกจากนี้ยังมีการขายในขวดที่ดูเหมือนสารเคมี โดยเฉพาะที่ผลิตจากเขาโฮโกนุยจะเอาฉลากยาพิษแบบหัวกะโหลกไขว้มาติดเพื่อให้รัฐบาลไม่ตรวจ พอรัฐบาลโดนมุกนี้เข้า เลยยอมยกธงขาวให้ นิวซีแลนด์มีโรงกลั่นได้ถูกต้องตาม กฎหมาย ยุคที่ผ่านมามีเหล้าหลายยี่ห้อ เช่น แมคเคนซี่ ซึ่งบรรจุขวด ที่เหมือนขวดนม วิลสันซึ่งเป็นเหล้าที่มาจากดันเนดิน แต่ตอนหลังไปไม่รอด ปัจจุบันออกขายในชื่อมิลฟอร์ดแทน ที่มีสีสันที่สุดคือ โฮโกนุย แม้จะ ขึ้นมาบนดินก็ยังเอาขวดยาพิษพร้อมฉลากหัวกะโหลกมาติดขายต่อไป ซึ่งมีฉลากเป็นแบบยาพิษแต่มีคำบอกกล่าวว่าเป็นเหล้า ซึ่งที่จริงก็คือยาพิษทำลายชีวิตของคนงมงาย


ผมเคยเห็นเหล้าที่ฉลากเป็นรูปหัวกะโหลก ตอนนี้เลยรู้ที่มาแล้วครับ ขอบคุณมากครับ -0023
สุราช่วยคลายกล้ามเนื้อ

ออฟไลน์ เก่ง หล่ายดอย

  • The Watcher Team
  • Master Degree of MC27/30
  • ***
  • กระทู้: 11,956
  • ถูกใจ: +22/-0
  • ให้เหล้า เท่ากับแบ่ง
Re: บทความดีๆที่เจอครับ
« ตอบกลับ #4 เมื่อ: สิงหาคม 17, 2011, 08:26:31 PM »
ขอบคุณที่นำมาแบ่งปันกันครับ -0023
ใครว่าดื่มเหล้าไร้สาระ ผมว่าสาระดีๆ มีอยู่เพียบ อยู่ที่มุมมองมากกว่าครับ
-10 มิตรภาพจากคนแปลกหน้า มีค่ามากกว่าลมปากจากคนคุ้นเคย

ออฟไลน์ ole

  • มักเหล้าคลับ
  • Freshman MC 27/30
  • ***
  • กระทู้: 1,016
  • ถูกใจ: +10/-2
Re: บทความดีๆที่เจอครับ
« ตอบกลับ #5 เมื่อ: สิงหาคม 17, 2011, 09:02:42 PM »
 -0029  ขอบคุณที่นำมาแบ่งปันให้อ่านกันครับ  -0029

 :smile6: *** ได้อ่านบทความเกิน 8 บรรทัด เป็น ครั้งแรก ครับ ***  :smile6:

ออฟไลน์ เล่งฮู้ชง(令狐冲)

  • มักเหล้าคลับ
  • มัธยมปลาย MC 27/30
  • ***
  • กระทู้: 772
  • ถูกใจ: +0/-0
Re: บทความดีๆที่เจอครับ
« ตอบกลับ #6 เมื่อ: สิงหาคม 25, 2011, 08:49:53 AM »
ขอบคุณครับ......
เกิดมาทั้งทีมันก็มีอยู่แต่ทุกข์ภัย                 วันนี้เคราะห์ดี รุ่งขึ้นพรุ่งนี้ จะเป็นอย่างไร     
ดีเคยพบ ชั่วเคยเห็น จนเคยเป็น มีเคยได้      อนาคตเราไม่รู้ ถึงไม่รู้ ก็ต้องเดินไป   
จะกลัวไปใย มันก็ล่วงไปตามเวลา              ไม่ตายวันนี้ ก็คงไปซี้ เอาวันข้างหน้า 
วันนี้ยอ พรุ่งนี้ด่า                                  ไม่ใช่ขี้ข้า ปากของใคร